‘โครงการช่องนนทรี’ ทำก่อน ศึกษาทีหลัง ไร้คนออกแบบ
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี โครงการยักษ์ใหญ่ที่ กทม. ภาคภูมิใจ ยกว่าจะเป็น ‘คลองชองเกชอน’ ของไทย ทุ่มงบประมาณรวม 980 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของ กทม. อย่างน้อย 79 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างช่วงแรก กำหนดเปิดภายในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ แต่โครงการใหญ่ขนาดนี้กลับไม่ได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบ จนน่าคิดว่า โครงการนี้ทำอย่างชุ่ยๆ นำผักชีมาโรยหน้า เพื่อหาเสียงก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ในปีหน้าหรือไม่
หากไล่เรียงประเด็นน่าสงสัยทั้งหลายเกี่ยวกับโครงนี้ เราจะพบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบงานต่างทำงานกันไปโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงการนี้จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริงหรือไม่ โครงการนี้คุ้มค่าหรือไม่ และในหลายประเด็นก็ยังไม่มีการศึกษา หรือยังศึกษาไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ยังดึงดันจะเดินหน้าโครงการต่อไป เช่น ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาจราจรติดขัดขึ้นอย่างไร หากมีการเพิ่มทางม้าลายเพื่อเข้าไปใช้งานสวนสาธารณะ เพราะโครงการไม่มีแบบจำลองการจราจร
“เราพยายามหาสวนสาธารณะ หาพื้นที่สีเขียวให้คนพักผ่อนและเข้าไปแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จุดทางข้ามที่ใช้เป็นจุดเดียวกับที่ตั้งสถานี BRT ที่ว่าลากจุดมั่วๆ กะเอา เบื้องต้นควรต้องเป็นอย่างนั้น ไว้ถ้าเปิดใช้ดูแล้วจะแก้ไขปรับปรุงอะไรก็เพิ่มเข้าไปได้อีก เราพยายามใช้ศักยภาพเดิม เนื่องจากเราก็ยังห่วงเรื่องจราจรอยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จึงขออนุญาตรับไปศึกษาให้รอบคอบ”
จิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา ชี้แจงต่อ คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่”
นอกจากนี้ โครงการใหญ่ขนาดนี้กลับไม่มีผู้ออกแบบ ทั้งที่เป็นหัวใจของโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นและต้องเป็นผู้มาตอบคำถามเชิงเทคนิคทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญา การจราจร หรือการบำบัดน้ำ โดยอ้างว่าใช้วิธีจิตอาสา มีหลายหน่วยช่วยกันทำ ส่วนงานวิศวกรรมสามารถใช้หน่วยงานภายในของ กทม. ทำเองได้
ขณะเดียวกัน คลองช่องนนทรีมีค่า BOD อยู่ที่ 20 หรือเน่าเสียในระดับที่เป็นอันตรายหากได้สัมผัส จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงจะนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาบำบัดน้ำเสียให้ค่า BOD ลดลงมาในระดับปลอดภัยที่ต่ำกว่า 3 ก่อนที่จะให้ประชาชนเข้าไปงานอย่างใกล้ชิดได้ แต่งบนี้กลับไม่มีอยู่ในงบประมาณของโครงการคลองช่องนนทรี หากจะบำบัดให้น้ำสะอาดต้องใช้งบประมาณเพิ่มจากนี้อีกมาก และ กทม. ก็ไม่ได้ศึกษามาก่อนเลย มีเพียงคำสัญญาเลื่อนลอยว่า จะไปดูเรื่องนี้และปรับปรุงให้ดี ทั้งที่ กทม. โฆษณาไว้อย่างดิบดีว่า จะบำบัดน้ำคลองช่องนนทรีให้สะอาด
ที่สำคัญ มีการนำข้อมูลศึกษาทางวิชาการมาบิดเบือนเพื่อสนับสนุนโครงการ เช่น การยกแผนแม่บทพื้นที่สีเขียว ปี 59 มาใช้ โดยอ้างว่าได้ทำแบบสอบถามพบว่ามีประชาชนเห็นด้วยกับโครงการถึงร้อยละ 99 แต่เมื่อกางแบบสอบถามออกมาดู ก็จะพบว่า ใช้คำถามกว้างๆ ที่คนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยอยู่แล้ว เช่น เห็นด้วยกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ เพิ่มต้นไม้ริมแม่น้ำลำคลองหรือไม่ เห็นด้วยกับการเพิ่มระบบบำบัดน้ำและอนุรักษ์แหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มหรือปรับปรุงการปรับปรุงทางเดินเท้า แต่คำถามเหล่านี้ก็ไม่เจาะจงพื้นที่ไหน บริเวณไหน ซึ่งจะเอามาบอกว่าโครงการคลองช่องนนทรีสอดคล้องกับแผนแม่บทนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตรงตามหลักวิชาการ
นอกเหนือจากเรื่องการศึกษาและออกแบบโครงการจะมีปัญหาแล้ว โครงการนี้ยังมีความน่าสงสัยในเรื่องการใช้งบประมาณอีกด้วยว่า เอางบกลางมาใช้ได้อย่างไร เพราะแม้จะเป็นอำนาจของผู้ว่า กทม. แต่มีข้อกำหนดการใช้งบกลางว่า ต้องเรื่องจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นเรื่องที่ถ้าไม่ดำเนินการก่อให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน โครงการนี้เข้าข่ายอย่างไร แต่สุดท้าย กทม. ก็ไม่มีคำตอบให้แก่ประชาชนเลย