🔥 ก้าวไกลเอาจริง ยื่นศาลปกครองหยุดดีลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รักษาผลประโยชน์รัฐ 68,000 ล้านบาท ชี้ ถ้าปล่อยให้การประมูลผ่านอาจกลายเป็นค่าโง่ในอนาคต
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ และณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิจารณาหยุดสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม
สุรเชษฐ์ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็นทุจริตครั้งใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ที่มีมูลค่าจำนวน 68,000 ล้านบาท ตนและพรรคก้าวไกลขอยื่นให้ศาลปกครองหยุดยั้งโครงการนี้ หากปล่อยให้มีการอนุมัติประเทศไทยต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าตัวเลข 68,000 ล้านบาท เกิดจากกระบวนการ “ปั้นตัวเลข” มา “ปั่นโครงการ” และในวันนี้ใกล้จะ “ปันผลประโยชน์” สำเร็จแล้ว
หากศาลปกครองไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เรื่องนี้จะถูกส่งไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แน่นอนว่าเมื่อไปถึงคณะรัฐมนตรี จะทำให้เงินภาษีของประชนถูกใช้เกินจำเป็น 68,000 ล้านบาท
ตนและพรรคก้าวไกล ยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด จึงได้มายื่นฟ้องจำเลย ได้แก่
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ
- กระทรวงคมนาคม
เพื่อให้ศาลปกครองกลางพิจารณาคำขอใน 4 ประเด็น ได้แก่
- ยกเลิกการประมูลที่มีปัญหาจัดการประมูลใหม่ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยอย่างน้อย BTS และ BEM ต้องเข้าได้
- รฟม. ต้องเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ โดยไม่ปฏิเสธอำนาจนิติบัญญัติอย่างที่ได้เบี้ยวมา 2 ครั้ง
- เปลี่ยนคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ของ พรบ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้มีความโปร่งใส เนื่องจากเรื่องนี้เป็นคดีใหญ่ มูลค่าสูง และมีรายละเอียดมาก
- คาดว่าศาลคงต้องใช้เวลาพิจารณามากพอสมควร เราจึงได้ “ยื่นคำร้อง” ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา และขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เซ็นสัญญาก่อน เพราะหากปล่อยไป รัฐบาลหน้าจะตามไปแก้ไขอะไรได้ยากและอาจทำให้เกิด “ค่าโง่ก้อนใหม่”
นอกจากนี้ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เคยให้โอกาส รฟม. มาชี้แจงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว ถึง 2 ครั้ง แต่ รฟม. ไม่มาชี้แจง ซึ่งอนุกรรมาธิการพบความผิดปกติ คือ
- การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศการยกเลิกการประมูลครั้งก่อนโดยที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ‘การยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย’
- การกีดกัน BTS ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติการคิดราคากลาง
- คาดส่วนแบ่งรายได้ในอนาคตเป็นศูนย์เพราะไม่มีความพยายามของคณะกรรมการคัดเลือกในการรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐ
- ที่สำคัญ “ส่วนต่าง 68,000 ล้านมีอยู่จริง” ต้องไปพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าทำไมการประมูลรอบแรก หาก BTS ชนะ รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสองซึ่ง BEM ชนะ รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ในทางเทคนิคก็คือสร้างสิ่งเดียวกัน คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบบการก่อสร้างก็ไม่ได้เปลี่ยน: ยาวเท่าเดิม สถานีเท่าเดิม
“สุดท้ายฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ต้องออกมาชี้แจงแบบไม่ต้องโบ้ยให้คนอื่นไปชี้แจงแทน ให้ได้ว่าส่วนต่าง 68,000 ล้าน หายไปไหน? ทำไม BTS โดนกีดกันทั้งๆ ที่ก็รู้กันอยู่ว่าในทางปฏิบัติมันมีแค่ 2 เจ้า เรื่องนี้ยอมไม่ได้ เพราะหากปล่อยไป คนอนุมัติรวย นายทุนยิ้ม ประชาชนจ่ายส่วนต่าง 68,000 ล้าน”
สุรเชษฐ์กล่าว