เป็นข่าวดังสั่นสะเทือนส่งท้ายปีที่มีการล่อจับนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ ที่มีการเรียกส่วย-รับสินบนในการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการ ขบวนการเรียกรับสินบนแผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วทุกหน่วยงานทั้งประเทศของกรมอุทยาน
ข้อสังเกตคืออธิบดีกรมอุทยานรายนี้เจริญก้าวหน้าในราชการขึ้นมานับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ของ คสช. เนื่องจากนายรัชฎา เป็นน้องชายของ พล.อ.ยุวนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำถามคือมหากาพย์การเรียกรับผลประโยชน์ขนานใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าไม่มีไฟเขียวจากอำนาจที่สูงกว่า?
การทุจริตแบบนี้มีแค่ในกรมอุทยานที่เดียว หรือแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้าเพียงแต่ในกรม/กระทรวงอื่นยังไม่มีเรื่องแดงออกมา?
นอกจากอธิบดีรายนี้แล้ว รัฐบาลจะกล้าขยายผลไปหาเส้นทางของเงินที่สูงขึ้นไปหรือไม่ หรือเป็นเพราะคนในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องเสียเอง? นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการคำตอบ
พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบที่ฟอนเฟะเช่นนี้ต่อไปได้ เราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เพื่อให้ประเทศนี้ไปต่อได้
ตัวอย่างของนโยบายพรรคก้าวไกล ที่จะช่วยเปิดโปงหารทุจริต เช่น
โครงการ “คนโกงวงแตก”
โดยปกติ การทุจริตคอร์รัปชัน ไม่สามารถกระทำได้ด้วยคนคนเดียว จะต้องมีผู้สมรู้ร่วมคิดเสมอ เราจึงเสนอให้สร้างระบบที่ทำให้คนที่คิดจะร่วมกันโกง (เช่น คนจ่ายกับคนรับสินบน บริษัทที่จะฮั้วประมูลกัน) ระแวงกันจนไม่มีใครกล้าร่วมกันโกง
กลไกที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น คือการออกกฎคุ้มครองใครที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมรู้ร่วมคิดก่อน (leniency programme) ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก บราซิล
เป้าหมายและความสำเร็จของกลไกนี้ ไม่ใช่การเห็นคนมามอบตัว แต่คือการทำให้การโกงไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น เพราะคนที่คิดจะโกงก็ต้องหวาดระแวงกันตั้งแต่แรก ว่าถ้าโกงไปก็อาจถูกอีกฝ่ายเปิดโปงได้ ในเมื่อหากทั้งคู่ตัดสินใจร่วมกันโกงจริง ทั้งคู่จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผลประโยชน์สูงสุด จะเป็นของคนที่ออกมาสารภาพก่อนทันที
โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน”
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อย รับรู้ถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นในหน่วยงานตนเอง แต่ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมากที่จะออกมาเปิดโปงการทุจริต เพราะความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตนเอง หรือความก้าวหน้าทางอาชีพ เช่นเดียวกับประชาชนหลายคนที่เห็นการทุจริตแต่ไม่พร้อมจะเก็บหลักฐานมาเปิดโปง
โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน” คือการลดต้นทุนของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในการเปิดโปงการทุจริต โดยการ
(i) ออกกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยและรับรองความก้าวหน้าในหน้าที่การงานให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในหน่วยงาน (whistleblower protection)
(ii) เพิ่มรางวัลให้กับประชาชนทั่วไป ที่ชี้เบาะแสการทุจริต
นอกจาก 2 โครงการนี้ เรายังมีนโยบายอื่นเพื่อเปลี่ยนราชการไทยให้กลายเป็น “ราชการเพื่อราษฎร”
อ่านนโยบายฉบับเต็มได้ที่ https://www.moveforwardparty.org/article/policies/15930/
เราขอย้ำอีกครั้งว่าการกำจัดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างสิ้นซาก ไม่ใช่ให้คนดีปกครองบ้านเมือง ภายใต้ “หน้ากากคนดี” แต่เราต้องการระบบที่โปร่งใส ขบวนการยุติธรรมที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจ เคารพหลักนิติรัฐ และที่สำคัญคืออำนาจสูงสุดต้องอยู่ที่ประชาชน
อนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติได้คะแนนคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2565 อยู่ระดับ A หมวด “การป้องกันการทุจริต” ได้ 100 คะแนนเต็ม 100 (ข้อมูลจาก FB: สฤณี อาชวานันทกุล https://www.facebook.com/SarineeA/posts/pfbid02YGWLxUsUiccCke6Lwynr5NES9iPgeDmx19yby8aRoh4B1yzZQrdkfJDBHBgDT3CVl)